ยกระดับความปลอดภัยชีวภาพสูงสุด ขอให้รายย่อยเลี้ยงหมูแบบ GFM ป้องกันควบคุมโรคโดยเร็ว

ยกระดับความปลอดภัยชีวภาพสูงสุด ขอให้รายย่อยเลี้ยงหมูแบบ GFM ป้องกันควบคุมโรคโดยเร็ว

img-slide

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้รายงานการเกิดโรค ASF ในสุกรโดยได้แจ้งไปองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 นั้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคได้ในระยะยาวและยั่งยืน และตามหลักสากลโดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ การผลักดันยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อป้องกันโรคระบาดซึ่งไม่เฉพาะสามารถป้องกันโรค ASF ในสุกรเท่านั้น ยังสามารถป้องกันโรคระบาดอื่นๆ ในสุกรได้อีกด้วย การส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มมีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม หรือ GFM ซึ่งรายย่อยสามารถดำเนินการได้และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการทำมาตรฐานฟาร์ม GAP และเป็นการเตรียมความพร้อมในการยกระดับเป็นฟาร์มมาตรฐาน GAP ต่อไปในอนาคต

สำหรับในการเลี้ยงสุกรที่มีจำนวนน้อยกว่า 500 ตัว สามารถทำฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม หลักการสำคัญมี 3 ด้าน ประกอบด้วย การป้องกันโรค การตรวจสอบย้อนกลับและด้านผลผลิต มีข้อกำหนดในการรับรอง ประกอบด้วย พื้นที่และโครงสร้าง การจัดการโรงเรือนและอุปกรณ์ การจัดการยานพาหนะ การจัดการบุคลากร การจัดการด้านสุขภาพสัตว์ การจัดการอาหารสัตว์และยาสัตว์ การจัดการด้านข้อมูลและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

การทำ GFM เป็นการทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์ม เป็นมาตรการหนึ่งของมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อควบคุมป้องกันเชื้อโรคที่ติดมากับคน สัตว์และสิ่งของ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องมือ เครื่องใช้และยานพาหนะ มีพื้นที่พักสัตว์ พื้นที่เลี้ยง และพื้นที่ขายหมู แยกออกจากกัน บุคคลหากไม่จำเป็นไม่ควรให้เข้าในพื้นที่เลี้ยงสุกรโดยเด็ดขาด ถ้าจำเป็นต้องมีการอาบน้ำ เปลี่ยนชุดก่อนเข้า-ออก และจุ่มรองเท้าบู้ทฆ่าเชื้อทุกครั้งและผู้ที่เข้าพื้นที่เลี้ยงสุกรต้องพักโรคอย่างน้อย 5 วัน การเลี้ยงสัตว์ เลือกแหล่งอาหารที่น่าเชื่อถือ ไม่นำอาหารเหลือที่มีส่วนประกอบของเนื้อหมูมาใช้ในการเลี้ยง การปฏิบัติดังกล่าวสามารถป้องกันโรคได้อย่างดี

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลที่ได้จากการทำฟาร์ม GFM สามารถลดปัญหาโรคระบาด ลดความเสียหาย ลดปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะและสามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีอาชีพที่มีความมั่นคงและยั่งยืน และประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังทำให้สามารถป้องกันและควบคุมโรคได้โดยเร็ว

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar