คลัง ชี้แจงประเด็นข้อเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

คลัง ชี้แจงประเด็นข้อเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่ สมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย นำโดยนายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมฯ ได้นำรถแท็กซี่สหกรณ์ราชพฤกษ์ จำกัด และกลุ่มบวรแท็กซี่ จำนวนกว่า 100 คัน มาจอดที่หน้ากระทรวงพลังงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาพักชำระหนี้ช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างรุนแรงเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยขอให้มีการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และให้มีการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ยเพื่อนำมาปรับปรุงสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมให้บริการนั้น 

กระทรวงการคลังและ ธปท. ได้มีมาตรการด้านการเงินเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบด้วย มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจและลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและนอกพื้นที่ควบคุม จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็น โดยสถาบันการเงินที่เข้าร่วมจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมที่ค้างอยู่ในทันทีเมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสามารถติดต่อสถาบันการเงินได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป รวมถึง ธปท. ยังร่วมกับผู้ให้บริการทางการเงินออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภทคือ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ลูกหนี้สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดย ธปท. ได้ขอให้ผู้ให้บริการทางการเงินให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสถานะของลูกหนี้ตามมาตรการที่กำหนด สำหรับลูกหนี้ที่มีศักยภาพ ธปท. สนับสนุนให้ทยอยชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการพักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย จะยังคงมีการคิดดอกเบี้ยตามระยะเวลาการกู้ยืมอยู่ ซึ่งจะทำให้ภาระการชำระหนี้ของลูกหนี้เพิ่มขึ้นในระยะยาว

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้มีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและมีวงเงินโครงการคงเหลือที่ประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนด ได้แก่ประชาชน ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงิน 20,000 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ส่วนผู้ประกอบการ ธนาคารออมสินมีโครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก และผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีโครงการสินเชื่อ Extra Cash วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบวงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564

ที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar