ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค EEC - SEZ เชื่อมต่อด้วย MR-MAP 10 เส้นทาง

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค EEC -​ SEZ เชื่อมต่อด้วย MR-MAP 10 เส้นทาง ส่วนสำคัญในการเดินหน้าพัฒนาประเทศ

    นโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการให้กระจายโครงข่ายเส้นทางคมนาคมให้มากขึ้น แต่เส้นทางใหม่ควรเป็นทางตรง ไม่ผ่านชุมชน ไม่ซ้ำกับแนวถนนเดิม เพื่อกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่ ที่สำคัญต้องเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่และจะมีต่อไปในภายหน้า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ20ปี 

MR-MAP แผนโครงข่ายถนนควบระบบราง 10เส้นทาง ผ่านเขตและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทุกภาค

     กระทรวงคมนาคม มอบหมายให้กรมทางหลวงดำเนินการและเห็นว่า การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์  ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบรางแบบบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ ให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ มีความเหมาะสมที่สุด จึงให้กรมทางหลวงศึกษาพร้อมกำหนดแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง หรือ MR-MAP ขึ้นมา 
   แผนนี้หลักๆแล้วจะเป็นการพัฒนาและก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ควบคู่ไปกับการสร้างและพัฒนาเส้นทางรถไฟใน10 เส้นทาง ครอบคลุมทั้งทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก รวมระยะทางประมาณ 7,272 กม. เป็นเส้นทางมอเตอร์เวย์พัฒนาร่วมระบบราง 4,891 กม. และยังจะเชื่อมต่อพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ชาติ20ปี ทั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4ภาคซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ กพศ. ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม เมื่อ 5 พฤษภาคม 2565 ได้เห็นชอบให้ประกาศระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีก 4 เขตได้แก่ 

จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor  หรือ NEC – Creative LANNA เพื่อยกระดับให้เป็นพื้นที่ลงทุนด้านการพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน

จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคายเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor หรือ NeEC – Bioeconomy เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก หรือ Central - Western Economic Corridor  หรือ CWEC เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำในด้านอุตสาหกรรมเกษตรการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูงระดับมาตรฐานสากล เชื่อมโยงกรุงเทพฯ พื้นที่โดยรอบ และ EEC

จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor หรือ SEC เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ

   ทั้ง 10เส้นทางตามแผนMR-MAP นอกจากจะเชื่อมEEC และระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคที่ กพศ.เพิ่งประกาศไปแล้ว ยังเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือ SEZ อีกด้วย ดังนี้

เส้นทางMR1 เชื่อมชายแดนประเทศเมียนมาและ สปป.ลาว บริเวณด่านแม่สายและด่านเชียงราย จ.เชียงราย ลงสู่ชายแดนใต้ชายแดนประเทศมาเลเซีย ที่บริเวณด่านสะเดา จ.สงขลา และ จ.นราธิวาส ระยะทางรวมประมาณ 2,125 กม.

เส้นทางMR2 เชื่อมภาคกลาง-ตะวันออก-อีสาน-สสป.ลาว จากมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ไปยังมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา(อยู่ระหว่างก่อสร้าง) และภาคตะวันออก จากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี สู่ภาคอีสาน จ.นครราชสีมา เชื่อมต่อชายแดน สปป.ลาว ที่ด่านหนองคาย จ.หนองคาย ระยะทางรวมประมาณ 917 กม.

เส้นทางMR3 เชื่อมชายแดน สปป.ลาว ที่ด่านบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ผ่านพื้นที่ภาคอีสานจนถึงชายแดนประเทศกัมพูชา ที่ด่านช่องจอม จ.สุรินทร์ แชะด่านช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ระยะทางรวมประมาณ 554 กม.

เส้นทางMR4 เชื่อมชายแดนประเทศเมียนมา ที่ จ.ตาก ไปยังชายแดน สปป.ลาว ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่2 จ.มุกดาหาร และแห่งที่3 จ.นครพนม ระยะทางรวมประมาณ 856 กม.

เส้นทางMR5 เชื่อมจากชายแดนประเทศเมียนมา ที่ด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี ไปยังสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่6 และด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี เพื่อเชื่อมชายแดน สปป.ลาว ระยะทางรวมประมาณ 1,049 กม.

เส้นทางMR6 เชื่อมต่อชายแดนประเทศเมียนมา ที่ด่านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี เข้าสู่กรุงเทพฯ ด้วยมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี(อยู่ระหว่างก่อสร้าง) ผ่านถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออกไปยังชายแดนประเทศกัมพูชา ที่ด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ระยะทางรวมประมาณ 390 กม.

เส้นทางMR7 ประกอบด้วยมอเตอร์เวย์ สายกรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด ที่เปิดให้บริการแล้ว เชื่อมต่อกรุงเทพฯและปริมณฑล สู่ภาคตะวันออก และเส้นทางสายชลบุรีเชื่อมต่อไปประเทศกัมพูชา ที่ด่านคลองใหญ่ จ.ตราด ระยะทางรวมประมาณ 467 กม.

เส้นทางMR8 เส้นทางนี้จะสอดรับกับโครงการแลนด์บริดจ์ ตามนโยบายรัฐบาลเชื่อมท่าเรือสองฝั่งทะเล คือฝั่งอ่าวไทยที่จ.ชุมพร ไปฝั่งอันดามันที่จ.ระนอง ระยะทางรวมประมาณ 91กม.

เส้นทางMR9 สอดรับกับโครงการแลนด์บริดจ์เช่นกัน เพราะจะเชื่อมจากอ่าวไทยที่ จ.สุราษฎร์ธานี ไปยังฝั่งอันดามันที่ จ.ภูเก็ต ระยะทางรวมประมาณ 185กม.

เส้นทางMR10 เชื่อมต่อกรุงเทพฯและปริมณฑล ประกอบด้วยถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯรอบที่2 หรือถนนกาญจนาภิเษกในปัจจุบัน และในอนาคตจะมีวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯรอบที่3 รวมทั้งทางเชื่อมรอบ2กับรอบ3 สู่ภูมิภาคอื่นๆ ประกอบด้วยเส้นทางบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว และเส้นทางในอนาคตบ้านแพ้ว-ปากท่อ  เส้นทางส่วนต่อขยายพิเศษอุดร-รัถยา ช่วงบางปะอิน-สุพรรณบุรี ระยะทางรวมประมาณ 648 กม.

  ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ระหว่างประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำรายละเอียดแผนแม่บทโครงการ คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะก่อสร้างนำร่องก่อน3 เส้นทาง คือ เส้นทาง MR 2 ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง, เส้นทางMR 5 ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี และเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง 

    อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้ยังไม่เริ่มดำเนินการก่อสร้างตามแผนMR-MAP แต่เมื่อได้ทราบโครงข่ายถนนใหม่ทั้ง10เส้นทางที่จะมีควบคู่ไปพร้อมระบบรางคือรถไฟ และยังเชื่อมเขตและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 6 เขต ก็พอจะเห็นได้ว่าโครงสร้างพื้นฐาน เขตและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต ประเทศมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น และที่สำคัญจะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นได้อีกในอนาคต


image รูปภาพ
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค EEC - SEZ เชื่อมต่อด้วย MR-MAP 10 เส้นทาง

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar