เล่นแชร์ออนไลน์ “เสี่ยงถูกหลอกและสูญเงิน”

“กระทรวงยุติธรรม เสริมสร้างการรับรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันแก่ประชาชน” 
ตอน เล่นแชร์ออนไลน์ ลงทุนน้อยผลตอบแทนสูง “เสี่ยงถูกหลอกและสูญเงิน”คนชักชวนต้องเจอโทษหนัก แถมถูกยึดทรัพย์
          การเล่นแชร์ออนไลน์ เป็นภัย “อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” โดยมีลักษณะจูงใจให้ลงทุน โดยการลงทุนน้อยและได้ผลตอบแทนสูง เสี่ยงถูกหลอกและสูญเงิน ส่วนผู้กระทำผิด มีโทษทางอาญาและอาจเข้าข่ายความผิดมูลฐานฟอกเงิน ซึ่งจะถูกยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดด้วย
สำหรับการกระทำที่เข้าข่ายกระทำความผิดมีโทษ ดังนี้
         1. พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534
มาตรา 6 กำหนดว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์ รวมกันมากกว่า 3 วง
(2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน
(3) มีทุนกองกลางต่อ 1 งวด รวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า จำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 17)
มาตรา 9 ห้ามมิให้ ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม ในการเล่นแชร์ ผู้ใดฝ่าฝืนต้อง ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท (มาตรา 19)
         2. พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
มาตรา 12 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 4 หรือมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
         3. ประมวลกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกงประชาชน
มาตรา 343 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
         4. พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

ข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534, พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถขอรับคำปรึกษาด้านกฎหมาย บริการด้านงานยุติธรรมต่าง ๆ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
1. สายด่วนยุติธรรม 1111 กด 77 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
2. จดหมาย : ตู้ไปรษณีย์ 3 หลักสี่ กทม. 10210
3. เว็บไซต์ : https://www.moj.go.th/ และระบบให้บริการประชาชน http://mind.moj.go.th 
4. อีเมลล์ : complainingcenter@moj.go.th
5. แอปพลิเคชันไลน์ Lind id : Svl007
6. เฟสบุ๊ค : ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงยุติธรรม Ministry Of Justice, Thailand
7. แอปพลิเคชัน Justice Care : บริการรับเรื่องยุติธรรมสร้างสุข 
8. สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ
9. กองทุนยุติธรรม โทร 063-2697056 หรือ Facebook: กองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม


image รูปภาพ
เล่นแชร์ออนไลน์ “เสี่ยงถูกหลอกและสูญเงิน”

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar